ในช่วงที่ผ่านมา เราคงเคยได้ยินถึงความพยายามที่จะบรรจุอีสปอร์ตเข้าแข่งขันในกีฬาโอลิมปิก และแม้แต่ประธานคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) อย่างโธมัส บาค ก็ยังพูดถึงความเป็นไปได้ในจุดนี้ และหน่วยงานอย่างสมาพันธ์อีสปอร์ตนานาชาติหรือ ieSF ก็มีเป้าหมายให้อีสปอร์ตได้อยู่ในกีฬาโอลิมปิกปี 2024 ที่ปารีส
ในทางปฏิบัติ เราก็ยังเห็นปัญหามากมายในการนำอีสปอร์ตเข้าไปอยู่ในมหกรรมกีฬาของมวลมนุษยชาติ ซึ่งส่วนหนึ่งก็มาจากเงื่อนไขที่ทาง IOC ตั้งไว้มากมาย เช่น เกมที่บรรจุต้องไม่มีความรุนแรง อีสปอร์ตเปลี่ยนกฎบ่อยเกินไปจนอาจไม่เหมาะอยู่ในโอลิมปิก ฯลฯ
เอาเข้าจริงแล้วอีสปอร์ตจำเป็นต้อง “ง้อ” IOC เพื่อให้ตัวเองได้เข้าโอลิมปิกขนาดนั้นเลยหรือ? ซึ่งหลัก ๆ จะนำเสนอเหตุผลสองข้อที่อีสปอร์ตไม่ควรง้อ
โอลิมปิกอยู่ในช่วงขาลง
หากใครติดตามโอลิมปิกเกมส์คงจะพอรู้ว่า ส่วนใหญ่ประเทศเจ้าภาพจะขาดทุน โดยตัวอย่างคลาสสิคเห็นจะเป็นเมืองมอนทรีออล ที่ได้เป็นเจ้าภาพโอลิมปิกในปี 1976 แต่เมืองกลับต้องเป็นหนี้ยาวถึง 40 ปี ก่อนที่เจ้าหนี้จะยกหนี้ให้ในปี 2016 และถ้าย้อนไปไม่ไกลมาก กรีซ เจ้าภาพโอลิมปิกปี 2004 ก็ทุ่มเงินจัดโอลิมปิกจนเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ประเทศแทบล้มละลาย และปัจจุบันสนามกีฬาต่าง ๆ ก็อยู่ในสภาพเสื่อมโทรมไร้การดูแล
ในเมื่อการจัดกีฬาโอลิมปิกได้แต่ “หน้า” แต่ไม่ได้ทำให้เศรษฐกิจของประเทศเจ้าภาพดีขึ้น ระยะหลังเราจึงเห็นการต่อต้านการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพ เช่น นอร์เวย์ ประเทศที่ประสบความสำเร็จที่สุดในประวัติศาสตร์โอลิมปิกฤดูหนาว ก็ตัดสินใจถอนตัวจากการเสนอชื่อเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกฤดูหนาวปี 2022 เนื่องจากโดนประชาชนต่อต้านเพราะมองว่าเป็นการใช้เงินสิ้นเปลือง
และเหตุการณ์ที่ตอกย้ำความไม่น่าดึงดูดของการเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกที่สุด เห็นจะเป็นโอลิมปิกปี 2024 ที่มีผู้ท้าชิงเพียงสองเมือง และ IOC ตัดสินใจให้ปารีสชนะ ได้เป็นเจ้าภาพปี 2024 และให้เมืองที่แพ้อย่างลอสแองเจลีส เป็นเจ้าภาพปี 2028 เลย เพราะลึก ๆ แล้วไอโอซีคงกลัวว่า ถ้าเปิดรับสมัครเจ้าภาพสำหรับปี 2028 อาจไม่มีเมืองไหนเสนอตัวเข้ามาเลย!